วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โรคไบโพล่าร์ ( Bipolar disorder)

โรคไบโพล่าร์ ( Bipolar disorder)
ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์
http://www.infomental.com/
โรคไบโพล่าร์เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ โรคนี้มีหลายชื่อเช่น โรคอารมณ์แปรปรวน , manic-depressive disorder, bipolar affective disorder, bipolar disorder ในปัจจุบันชื่อเป็นทางการคือ โรคไบโพล่าร์ (bipolar disorder) ลักษณะสำคัญของโรคนี้คืออาการผิดปกติของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นแบบซึมเศร้า (depression) หรือตรงข้ามกับซึมเศร้าคืออารมณ์ดีผิดปกติ (mania) ก็ได้
อาการซึมเศร้า (depression) อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในโรคไบโพล่าร์จะเหมือนกับอาการของโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) ทุกประการนั่นคืออยู่ๆผู้ป่วยก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย คิดแต่เรื่องร้ายๆ รู้สึกเศร้าๆ ไม่แจ่มใส เบื่อหน่ายไปหมดทุกเรื่อง ไม่รู้สึกดีใจเวลามีอะไรดีๆเกิดขึ้น ไม่อยากได้อะไร ไม่มีความสุข เก็บเนื้อเก็บตัวไม่อยากพบหน้าใคร บางคนจะหงุดหงิดโมโหง่าย เบื่อชีวิต อยากตาย บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย มีอาการอยู่แทบทุกวันเป็นหลายๆสัปดาห์หรือเป็นเดือน ในช่วงซึมเศร้าผู้ป่วยมักรู้ว่าตนกำลังป่วย
อาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (mania) เมื่อเกิดอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติ พูดมาก หัวเราะง่าย ชอบเข้าไปวุ่นวายกับคนอื่นจนบางครั้งเกิดเรื่องเกิดราว ใช้เงินเปลืองเพราะเห็นอะไรก็น่าซึ้อไปหมดและก็จะซื้อทีละเยอะๆด้วย มีโครงการ 100 ล้าน 1000 ล้านผุดขึ้นมาเต็มหัว รู้สึกว่าตนเองเก่ง หล่อ สวย หรือเป็นคนสำคัญผิดปกติ ในช่วงที่ป่วยผู้ป่วยจะรู้สึกขยันขันแข็งอยากทำอะไรมากมายไปหมดและมีความต้องการที่จะนอนน้อยลง บางรายมีอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าวมาก ผู้ป่วยบางรายมีความต้องการทางเพศมาก บางรายมีอาการของโรคจิตด้วยคือมีความหลงเชื่อผิดเช่นคิดว่าผู้ป่วยเป็นคนสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด หรือมีหูแว่วมาชมผู้ป่วยว่าหล่อจัง ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าตนกำลังป่วยและมักปฏิเสธการรักษา ผู้ป่วยหลายๆรายติดอกติดใจในความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังมีอาการตรงข้างกับซึมเศร้าทำให้ไม่อยากกินยาเพราะกินแล้ว “ ไม่สนุก ”
อาการที่สำคัญที่จะบอกว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์คือจะต้องมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (mania) อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการซึมเศร้าเป็นบางครั้งร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ (รายที่เป็นทีไรก็ซึมเศร้าทุกทีไม่เคยมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าเลยนั้นเราจะถือว่าเป็นโรคซึมเศร้าและจะได้รับการรักษาแบบโรคซึมเศร้า) อย่างไรก็ดีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงหลังคลอดมักมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าขึ้นในภายหลัง
โรคไบโพล่าร์นั้นมักเริ่มเป็นก่อนวัยกลางคน บางรายเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี แต่ก็มีบางรายที่มาเริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปีได้ โรคไบโพล่าร์เป็นโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมากโดยพบว่าเมื่อลองถามประวัติให้ดีๆมักจะพบว่ามีคนอื่นบางคนในวงศ์ญาติป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์ และลูกหลานของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์ได้มากกว่าคนทั่วไป
ในปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพล่าร์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุลย์คือมีสารซีโรโทนิน (serotonin) น้อยเกิดไปและสารนอร์เอปิเนฟริน ( epinephrine) มากเกินไปดังนั้นเราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพล่าร์ได้แก่ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (antipsychotics), และยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressants)
ยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers) ยากลุ่มนี้เป็นยาหลักที่ใช้ทั้งรักษาทั้งในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าและอาการตรงข้ามกับซึมเศร้า และยังใช้ป้องกันการกลับเป็นใหม่ได้ด้วย ในประเทศไทยปัจจุบันมียากลุ่มนี้ใช้แพร่หลายอยู่ 3 ชนิดคือ ลิเที่ยม (lithium carbonate), วาลโปรเอท (valproate), และคาร์บามาซีปีน ( carbamazepine) ซึ่งยาทั้ง 3 ชนิดนึ้ใช้ได้ผลดีใกล้เคียงกันแต่มีข้อควรระวังและข้อดีข้อเสียปลีกย่อยต่างกัน นอกจากนี้ยังมียาชนิดใหม่ที่เริ่มมีการใช้กันคือ โทพิราเมท (topiramate) ซึ่งยังค่อนข้างใหม่และประสบการณ์การใช้ยาในประเทศไทยยังน้อยอยู่ ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์นี้จะออกฤทธิ์ช้า เมื่อปรับยาครั้งหนึ่งต้องรออย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ยาจึงเริ่มออกฤทธิ์ ผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มนี้มักต้องถูกเจาะเลือดดูระดับยาในร่างกายเพื่อช่วยในการปรับยาด้วย และยาในกลุ่มนี้มักเป็นยาต้องห้ามในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก
ยาแก้โรคจิต ( antipsychotics) ในผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์ที่กำลังมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้านั้นการรอให้ยาควบคุมอารมณ์ออกฤทธิ์นั้นมักจะไม่ทันการเพราะผู้ป่วยมักจะวุ่นวายและมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหามากแพทย์จึงมักให้การรักษาด้วยยาแก้โรคจิตถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะยังไม่ถึงกับมีอาการของโรคจิตก็ตาม ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ไวและช่วยให้ผู้ป่วยสงบสติอารมณ์ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ยาในกลุ่มนี้มีให้เลือกใช้หลายชนิดแต่แพทย์มักเลือกใช้ชนิดที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากๆเช่น คลอโปรมาซีน (chlorpromazine), ไธโอริดาซีน (thioridazine), เพอร์เฟนาซีน (perphenazine) เมื่อยาควบคุมอารมณ์ออกฤทธิ์เต็มที่และอาการของผู้ป่วยดีชึ้นแพทย์ก็จะค่อยๆลดและหยุดยาในกลุ่มนี้ไป
ยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressants)ในผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์ที่กำลังมีอาการซึมเศร้านั้นแพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาควบคุมอารมณ์โดยไม่ต้องให้ยาแก้โรคซึมเศร้าก็ได้แต่บางครั้งแพทย์อาจเลือกที่จะให้ยาแก้ซึมเศร้าด้วยเพื่อให้ได้ผลแน่นอนขึ้นแล้วค่อยลดและหยุดยาแก้โรคซึมเศร้าเมื่อผู้ป่วยสบายดีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วย “ ดีเกิน ” กลายเป็นอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าไป ยาแก้โรคซึมเศร้ามีให้เลือกใช้หลายชนิด แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันแต่ผลข้างเคียงต่างกันเช่นบางชนิดทำให้ง่วงบางชนิดไม่ทำให้ง่วง ยาแก้ซึมเศร้าเป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้าเช่นเดียวกับยาควบคุมอารมณ์
โดยทั่วไปเมื่อเริ่มการรักษาแพทย์มักสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ในเวลาประมาณ 1 เดือนและผู้ป่วยมักหายเป็นปกติในเวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาควบคุมอารมณ์ต่อไปอีก 6-12 เดือนแล้วค่อยพิจารณาหยุดยา โรคไบโพล่าร์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ คือหายกลับเป็นคนเดิมได้ แต่ไม่หายขาด วันดีคืนดีผู้ป่วยจะกลับมามีอาการอีก ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมาหลายครั้ง เป็นค่อนข้างถี่ หรือเป็นแต่ละครั้งรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อไปเรื่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาใหม่
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลับมาใหม่ที่พบบ่อยมี 3 ข้อคือ
เครียดมาก
อดนอน
ขาดยา
ปัจจัยข้อที่ 1 เป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงได้ยากโดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบมากๆแต่เราก็คงจะสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราได้บ้างให้เครียดเฉพาะที่จำเป็นต้องเครียด ส่วนปัจจัยอีก 2 ข้อนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่า(การ)งานจะยุ่งเพียงใด ไม่ว่างาน(เลี้ยง)จะสนุกแค่ไหน ให้ ให้ความสำคัญกับการนอน ก่อน จัดเวลาให้นอนให้พอเสมอแล้วท่านจะไม่ต้องมานอนที่โรงพยาบาลบ่อยนัก นอกจากนั้นก็ กินยาให้ครบ ถึงแม้ว่าจะน่าเบื่อเพียงใดก็ตาม แพทย์ทุกท่านเห็นใจผู้ป่วยที่ต้องกินยานานๆแต่บางครั้งมันก็จำเป็น เพราะเมื่ออาการกำเริบแต่ละครั้งมักเกิดความเสียหายแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติๆและยาสามารถช่วยป้องกันการกำเริบได้จริงๆ

เรื่องจริงตัวอย่างโรคไบโอ

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

คาถาชัยมงคลและคำแปล

๑. พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- พระยามารผู้นิรมิตแขนได้ตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องมา
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะมารได้ ด้วยทานบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
๒. มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- อาฬะวกะยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความยับยั้ง มีฤทธิ์ใหญ่ยิ่งกว่าพระยามาร
เข้ามาประทุษร้ายอยู่ตลอดรุ่ง องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยขันติบารมี ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
๓. นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- ช้างตัวประเสริฐ ชื่อนาฬาคีรี เป็นช้างเมามัน โหดร้ายเหมือนไฟไหม้ป่า มีกำลังเหมือนจักราวุธ และสายฟ้า
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยพระเมตตาบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
๔. อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง ธาวันติโย ชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- โจร ชื่อ องคุลีมาล มีฝีมือเก่งกล้า ถือดาบเงื้อวิ่งไล่พระองค์ไปตลอดทาง ๓ โยชน์
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยการกระทำปาฏิหาริย์ ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
๕. กัตตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- นางจิญจมาณวิกาใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยวิธีสงบ ระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
๖. สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- สัจจะกะนิครนถ์ ผู้มีนิสัยละทิ้งความสัตย์ใฝ่ใจจะยกย่องถ้อยคำของตนให้สูงประหนึ่งว่ายกธงเป็นผู้มืดมัวเมา
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยรู้นิสัยแล้วตรัสเทศนาด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
๗. นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- องค์พระจอมมุนี ได้โปรดให้พระโมคคัลลาน์เถระ นิรมิตกายเป็นนาคราช ไปทรมานพระยานาคชื่อ
นันโทปนันทะ ผู้มีฤทธิ์มากให้พ่ายแพ้ด้วยวิธีอันเป็นอุปเท่ห์แห่งฤทธิ์ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา
๘. ทุคคาหะ ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต* ชะยะมังคะลานิ
คำแปล- พรหม ผู้มีนามว่า ท้าวผกา มีฤทธิ์และสำคัญตน ว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์
มีทิฏฐิที่ถือผิดรัดรึงอยู่อย่างแน่นแฟ้น องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ด้วยวิธีเทศนาญาณ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ดาวน์โหลดบทสวดพาหุง mp3

คลิบสอนพระใหม่สวดพาหุง

คลิบพาหุง